ประเด็นร้อน

เสือดำทุ่งใหญ่กับความคาดหวัง ต่อคณะกรรมการบริษัท

โดย ACT โพสเมื่อ Feb 12,2018

- - สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ - -

 

คอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง  : โดย วีรวรรณ มันนาภินันท์  รองผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

 

หากเป็นเมื่อหลายปีก่อน คำถามสำคัญที่สังคมไทยจะให้ความสนใจจากกรณีเสือดำทุ่งใหญ่ถูกล่าโดยผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ คงจำกัดอยู่แค่การนำบุคคลที่ทำผิดกฎหมายมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม

 

แต่ในปัจจุบันคำถามถึงความรับผิดชอบไม่ได้จำกัดอยู่แค่การนำคนผิดมารับโทษตามกฎหมายอีกต่อไปแล้ว สังคมไทยทั้งในโลกออนไลน์และ ออฟไลน์ต่างก็เรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้ที่กระทำความผิดถูกลงโทษทั้งทางกฎหมายและทางสังคม ซึ่งโทษทางสังคมก็หนีไม่พ้นเรื่องความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ด้วยเหตุผลเรื่องจริยธรรม

 

เมื่อผู้ต้องหาในเรื่องนี้เป็นผู้นำสูงสุดในบริษัทมหาชน จึงมีการยิงคำถามจากสังคมไปถึงองค์กรต่างๆ ในตลาดทุน ซึ่งคำตอบที่ได้รับจากองค์กรต่างก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการล่าสัตว์ป่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ต้องรับผิดชอบไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ส่วนเรื่องของจริยธรรม ความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนต่อไปนั้น เป็นเรื่องของคณะกรรมการบริษัท

 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยของเราได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นั่นคือสังคมไทยในปัจจุบันรู้จักและให้ความสำคัญกับประเด็นด้านธรรมาภิบาลและจริยธรรมมากขึ้น

 

เพราะฉะนั้นผู้บริหารและกรรมการบริษัทจดทะเบียนต้องเตือนตัวเองเอาไว้เสมอว่าพฤติกรรมของตนในทุกๆ เรื่องและทุกๆ ที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง สามารถก่อให้เกิดผลกระทบที่กว้างขวางครอบคลุม ไปถึงมิติของบริษัทด้วย แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำไปในฐานะส่วนตัว และเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทเลยก็ตาม

 

โดยนัยนี้พฤติกรรมของบริษัทจดทะเบียนและผู้บริหารจึงไม่ได้อยู่ในสายตาของนักลงทุนหรือผู้กำกับดูแลเท่านั้น แต่ยังอยู่ในสายตาของสังคมด้วย โดยมาตรฐานของสังคมในด้านจริยธรรมที่สูงขึ้น สามารถก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงและรุนแรงต่อบริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ และด้วยความคาดหวังของสังคมต่อกรรมการบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทจึงจำเป็นต้องทบทวนและปรับเปลี่ยนใน 3 ประเด็นต่อไปนี้

 

ประเด็นแรก ต้องไม่ปล่อยให้นโยบาย จรรยาบรรณสวยหรูที่มี เป็นเพียงกระดาษที่ไร้ค่า ถ้ามีการกำหนดนโยบายจรรยาบรรณของบริษัทแล้ว ต้องมีกลไกที่จะควบคุมให้ทุกคนในบริษัทปฏิบัติตาม มีการกำกับดูแลอย่างจริงจัง ถ้าหากมีใครฝ่าฝืนก็ต้องมีการลงโทษ ซึ่งจากการประเมินรายงาน CGR ของสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนถึงร้อยละ 73 ที่มีจรรยาบรรณธุรกิจของตนเอง ถ้าหากว่าคณะกรรมการสามารถดูแลให้มีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามจรรยาบรรณธุรกิจ ก็จะส่งผลดีต่อทั้งบริษัทและสังคมส่วนรวมด้วย

 

ประเด็นที่สอง การ "นิ่งสยบข่าว" ไม่ใช่ทางออกที่ดีเมื่อมีข่าวด้านลบ แม้ที่ผ่านมาจะมีหลายกรณีที่เมื่อเกิดเป็นข่าวขึ้น คณะกรรมการก็ใช้วิธีนิ่งเฉยรอเวลา แล้วในที่สุดข่าวก็เงียบไป แต่ต่อจากนี้กระแสสังคมจะกดดันให้คณะกรรมการต้องตอบคำถามและทำอะไรบางอย่าง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา นี่คือ Reputation Risk ความเสี่ยงตัวใหญ่ที่กรรมการไม่เคยคำนึงถึงในอดีต แต่นับวันความเสี่ยงด้านนี้จะยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไร้พรมแดน ที่การรับรู้ข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าไฟไหม้ฟาง

 

เมื่อเกิดข่าวลบขึ้นมา กรรมการอิสระควรเป็นผู้ที่แสดงบทบาทหลัก โดยเฉพาะในกรณีที่ข่าวด้านลบนั้นเกิดจากกรรมการที่เป็นเจ้าของหรือมาจากผู้ถือหุ้นใหญ่ ควรเรียกประชุมกรรมการอิสระ หรือคณะกรรมการชุดย่อยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ พร้อมทั้งเปิดเผยให้สังคมทราบถึงความเห็นและสิ่งที่คณะกรรมการจะดำเนินการกับเรื่องที่เกิดขึ้น

 

ประเด็นที่สาม การมุ่งทำกำไรไม่ใช่คำตอบเดียวของการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ในอดีตนักลงทุนอาจจะเลือกลงทุนในบริษัทที่ผลประกอบการดีเป็นหลัก แต่บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก ก็ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันเริ่มหันมาสนใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (Environmental Social and Governance : ESG) มากขึ้น

 

เมื่อปีที่แล้ว ก.ล.ต.เผยแพร่หลักธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Governance Code : I Code) เพื่อเป็นหลักปฏิบัติในการบริหารจัดการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันในการลงทุนในกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งมีบริษัทจัดการลงทุนจำนวน 26 แห่ง ที่ประกาศเจตนารมณ์พร้อมเดินหน้ารับการปฏิบัติตาม I Code แล้ว เพื่อ ผลักดันให้บริษัทไทยเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล มีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวมากกว่าผลตอบแทนระยะสั้น

 

กรณีเสือดำทุ่งใหญ่ถือเป็นตัวอย่างที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการบริษัท ซึ่งต้องคิดอย่างรอบคอบว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อคนที่ตกเป็นข่าวคือ ผู้บริหารสูงสุดที่กุมบังเหียนบริษัทมาโดยตลอด และเป็นผู้ที่นำบริษัทไปสู่การเติบโตทางธุรกิจ จนกลายเป็นบริษัทก่อสร้างระดับแนวหน้าของประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็มีข้อต้องพิจารณาถึงจริยธรรมและค่านิยมส่วนตัวของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำบริษัท ซึ่งภาพพจน์ในสายตาของสังคมได้ปรับเปลี่ยนเป็นทางลบไปเสียแล้ว

 

การตัดสินใจให้ทำหน้าที่ต่อไป หรือพิจารณาให้ออกจากตำแหน่ง ทางเลือกใดคือคำตอบที่ดีที่สุดเพื่อธุรกิจและสังคม คงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ก็จะสะท้อนให้เราเห็นถึงค่านิยมที่เป็นอยู่ของคณะกรรมการ กรณีเสือดำทุ่งใหญ่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เห็นถึงการพลิกโฉมการทำหน้าที่ของคณะกรรมการไทยได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

 

อันที่จริงเรื่องนี้อาจไม่จำเป็นต้องถึงมือคณะกรรมการบริษัทก็ได้ เพราะจรรยาบรรณของผู้นำอาจจะปลุกจิตสำนึกให้เจ้าตัวตัดสินใจดำเนินการอะไรสักอย่าง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น และความผิดหวังของสังคมก็ได้

 

ไม่รู้หวังมากไปหรือเปล่า!?

 

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw